ข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับศูนย์
เหตุผลและความจำเป็นของการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้
การเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมในยุคปัจจุบันทั้งภายในและภายนอกประเทศมิติต่าง ๆ ได้แก่ สังคม เศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (Covid-19 ทำให้ ระบบพัฒนากำลังคนและการจ้างงานทั่วโลกกำลังเปลี่ยนแปลงไปเนื่องจากสถานการณ์โลกในปัจจุบัน รวมถึงความต้องการแรงงานในงานแห่งอนาคต ที่จำเป็นต้องได้รับการพัฒนาจะชัดเจนขึ้นในหลากหลายสาขาอาชีพ รวมทั้งมีการนำปัญญาประดิษฐ์และการเรียนรู้ของเครื่องจักร (AI and Machine Learning Specialists) เข้ามาแทนที่คนมากยิ่งขึ้น และเมื่อเทรนด์โลกเป็นเช่นนี้ การให้ความสำคัญกับทุนมนุษย์ซึ่งถือเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญและมีคุณค่าต่อการพัฒนาประเทศในทุกระดับ ทั้งระดับส่วนย่อย (Micro) ของระบบเศรษฐกิจ คือ แรงงานในภาคการผลิตทั้งอุตสาหกรรม เกษตรกรรม และบริการ และระดับมหภาค (Macro) ของประเทศ ถ้าแรงงานในภาคการผลิตต่างๆ ของประเทศมีความรู้ความสามารถ มีทักษะและศักยภาพสูงจะส่งผลให้ผลิตภาพการผลิต (Productivity) สูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลสืบเนื่องต่อไปยังการพัฒนาเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศในที่สุด
การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศอย่างต่อเนื่องสามารถตอบสนองให้ประเทศชาติมีความ “มั่งคั่ง” ซึ่งสอดรับกับยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๒ (ปี พ.ศ. ๒๕๖๐ – ๒๕๖๔) แผนแม่บทด้านแรงงาน (พ.ศ. ๒๕๖๐ – ๒๕๖๔) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคง ให้แรงงาน ทั้งในและนอกระบบให้มีงานทำ มีความรู้ ความสามารถ มีโอกาสได้ทำงาน มีรายได้ในการประกอบอาชีพ โดยการจัดหางาน การฝึกอาชีพ การพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน ตลอดจนการดูแลคุ้มครองผู้ใช้แรงงาน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยท่ามกลางกระแสการแข่งขันในโลก ในส่วนของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้วางมาตรการพัฒนากำลังคนทักษะอนาคต โดยมุ่งเน้นไปที่แผนพัฒนากำลังคน ผสมผสานบริบทไทยกับทฤษฎีสากล สร้าง บุคลากรไทย ที่โลกต้องการ ในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) ระหว่างปี พ.ศ. 2563 – 2567 จากภาคเอกชน เราพบว่า 5 อับดับอุตสาหกรรมที่มีความต้องการอาชีพที่มีความต้องการสูง (Premium Job) ได้แก่ 1) อุตสาหกรรมดิจิทัล 2) อุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต 3) อุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต 4) อุตสาหกรรมพลังงานชีวมวลและชีวเคมี และ 5) อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ
จากความสำคัญความสำคัญดังกล่าวจะเห็นได้ว่าการพัฒนาทัพยากรมนุษย์ของประเทศนับว่ามีความสำคัญยิ่ง มหาวิทยาลัยจึงให้ความสำคัญ ศูนย์การเรียนรู้ตลอดชีวิตและพัฒนามาตรฐานวิชาชีพ (KPRU Lifelong Learning and Professional Standards Development Center : LPC) เพื่อยกระดับศักยภาพของแรงงานทั้ง Reskill / Upskill / New skill ในกลุ่มอุตสาหกรรมต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงการพัฒนาทักษะและเพิ่มโอกาสในการทำงานได้อย่างแท้จริง
ความสอดคล้องกับความต้องการและทิศทางการพัฒนาของประเทศ
การพัฒนาศักยภาพของแรงงานสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาของประเทศ ดังนี้
1) กรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศ ระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) โดยสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ การพัฒนาศักยภาพคนตลอดช่วงชีวิต มุ่งเน้นการพัฒนาคนเชิงคุณภาพ ในทุกช่วงวัย ประกอบด้วย (1) ช่วงการตั้งครรภ์/ปฐมวัย เน้นการเตรียมความพร้อม ให้แก่พ่อแม่ก่อนการตั้งครรภ์ (2) ช่วงวัยเรียน/วัยรุ่น ปลูกฝังความเป็นคนดี มีวินัย พัฒนาทักษะการเรียนรู้ที่สอดรับกับศตวรรษที่ 21 (3) ช่วงวัยแรงงาน ยกระดับศักยภาพ ทักษะและสมรรถนะแรงงานสอดคล้องกับความต้องการของตลาด และ (4) ช่วงวัยผู้สูงอายุ ส่งเสริมให้ผู้สูงอายุเป็นพลังในการขับเคลื่อนประเทศ
2) กรอบยุทธศาสตร์ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศ ปี (พ.ศ. 2560-2579 ) ของกระทรวงแรงงาน โดย ยุทธศาสตร์ที่ 1 การเพิ่มศักยภาพแรงงานและผู้ประกอบการเพื่อสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและแข่งขันอย่างยั่งยืน มุ่งเน้น 3 ประการ 1) ส่งเสริมพัฒนามาตรฐานฝีมือแรงงาไทยให้ได้มาตรฐานสากล 2) เน้นการพัฒนาฝีมือแรงงานไทยเพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของประเทศ และ 3) สนับสนุนให้สถานประกอบกิจการเข้าสู่ระบบระบบมาตรฐานแรงงานไทยโดยมีกลยุทธ์ พัฒนาศักยภาพแรงงานและสถานประกอบการให้สอดคล้องความต้องการของตลาดเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการของประเทศ
วัตถุประสงค์
1) เพื่อจัดทำหลักสูตรระยะสั้นที่ตอบสนองความต้องการของชุมชนท้องถิ่น
2) เพื่อยกระดับฝีมือแรงงาน Re-Skill Up-Skill และ Up-Skill ให้ทันกับการเปลี่ยนแปลง
3) เพื่อเป็นแหล่งเรียนและฝึกอาชีพตามความสนใจ
ศูนย์การเรียนรู้ตลอดชีวิตและพัฒนามาตรฐานวิชาชีพ มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร. (2568). ข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับศูนย์. สืบค้น 26 เมษายน 2568, จาก https://asl.kpru.ac.th/lpc/?lang=TH&page_id=37