ผ้าทอมือใยกล้วยไข่
ปัจจุบันแนวโน้มนวัตกรรมสิ่งทอสีเขียว (Eco-Innovative Textiles) กำลังเป็นที่นิยม การนำเส้นใยกล้วยมาใช้ในการพัฒนาเป็นเส้นใยในงานสิ่งทอจึงเป็นสิ่งที่น่าสนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเส้นใยกล้วย ได้ถูกหยิบยกขึ้นมากล่าวถึง ในหลาย ๆ เวทีของการเสวนาเพื่อมุ่งเน้นการพัฒนาเส้นใยพืชจากวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร เช่น ในประเทศอินเดียมีกล้วยสายพันธุ์ Areca catechu เป็นสายพันธุ์ที่มีมากและน่าสนใจ ซึ่งมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 5.6-11 ไมโครเมตร ผนังเซลล์ มีความหนา 2.2 ไมโครเมตร ได้ถูกนำมาการแยกสกัดเส้นใยด้วยวิธีหมักจะได้กลุ่มเส้นใยกล้วย ในการแยกสกัดด้วยวิธีทางเชิงกล จำเป็นต้องลอกเปลือกเพื่อให้กลุ่มเส้นใยออกมาในปริมาณมากและมีสมบัติทางกายภาพดีที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามีการเลือกวิธีการแยกสกัดเส้นใยที่ดี ก็จะมีผลต่อความแข็งแรงต่อแรงดึงขาดของเส้นใยเป็นอย่างดี ในขณะที่การแยกสกัดเส้นใยด้วยเคมี เป็นกรรมวิธีที่สามารถแยกสกัดเส้นใยได้ดี อีกทั้งยังสามารถดึงเอาเฮมิเซลลูโลสออกไปจากเส้นใยได้อีกด้วย (สมาคมอุตสาหกรรมฟอกย้อมพิมพ์และตกแต่งสิ่งทอไทย, 2560: ออนไลน์) ดังนั้นใยกล้วยจึงเป็นวัสดุที่สามารถใช้ทดแทนวัสดุหัตถกรรมอื่นได้ เช่น การนําเส้นใยกล้วยมาสางเพื่อทอเป็นผืนซึ่งเหมาะกับการออกแบบงานหัตถกรรมเครื่องเรือนใช้ทดแทนวัสดุประเภทหนังสัตว์ หนังเทียม หรือผ้าบางชนิดทดแทนวัสดุหุ้มเบาะ ด้านการออกแบบความคิดสร้างสรรค์งานเครื่องเรือนสมัยใหม่ด้วยผ้าที่ทอขึ้นจากเส้นใยกล้วย ด้วยคุณสมบัติที่เหนียวทนทาน ยืดหยุ่นสูง “เส้นใยแก่มีความเหนียว สามารถใช้ทําเส้นใยถักทอได้ซึ่งส่วนที่นํามาใช้เป็นส่วนของกาบกล้วยผ่านกระบวนการผลิตไป ทอเป็นเนื้อผ้ามีการดูดซับน้ำได้ดีช่วยระบายอากาศ มีความทนทาน ไม่ต่างจากผ้าฝ้าย หรือผ้าลินิน สีสันสดใสเป็นธรรมชาติ” (อุดมกิจเดชาและหาญจางสิทธิ์,2553) และด้วยกล้วยไข่เป็นพืชที่แสดงสัญลักษณ์ของจังหวัดกำแพงเพชร หากนำใยต้นกล้วยไข่มาพัฒนาเป็นผ้าทอจากเส้นใยกล้วยที่มีคุณภาพและมีความสวยงามสามารถสร้างความมีเอกลักษณ์ของผ้าทอท้องถิ่น โดยผู้วิจัยนำเส้นด้ายที่พัฒนาขึ้นจากเส้นใยกล้วยผสมเส้นใยฝ้ายทำเป็นด้ายมอบให้กับกลุ่มทอผ้ามัดหมี่ บ้านหนองแสง ตำบลปางมะค่า อำเภอขาณุวรลักษบุรี จังหวัดกำแพงเพชร เพื่อนำไปผลิตเป็นผ้าทอสร้างอัตลักษณ์ให้กับกลุ่ม อีกทั้งยังผู้วิจัยยังจัดอบรมถ่ายทอดความรู้เรื่องการผลิตเส้นด้ายจากเส้นใยกล้วยไข่ผสมเส้นใยฝ้ายแก่กลุ่มทอผ้าหนองแสง เพื่อให้เกิดการพัฒนาทางอาชีพที่ยั่งยืนต่อไป
หน่วยปฏิบัติการส่วนหน้าของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร. (2565). ผ้าทอมือใยกล้วยไข่. สืบค้น 22 พฤศจิกายน 2567, จาก https://asl.kpru.ac.th/MHESI/?lang=TH&page_id=21