การพัฒนากระบวนการย้อมเส้นฝ้ายจากผงศิลาแลง ผลิตภัณฑ์ผ้าทอมือย้อมสีศิลาแลง ลายดอกพิกุล
กลุ่มผ้าทอมือย้อมสีธรรมชาติบ้านหนองจอกพัฒนา ตั้งอยู่ในอำเภอคลองขลุง จังหวัดกำแพงเพชร เป็นอีกชุมชนหนึ่งที่มีประชากรย้ายถิ่นฐานมาจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยย้ายถิ่นฐานมาจากอำเภอพนมไพร จังหวัดร้อยเอ็ด และได้นำภูมิปัญญาการทอผ้า ตั้งแต่การปลูกฝ้าย การปั่น การย้อม และการทอผ้า โดยใช้เวลาว่างหลักจากเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตรและได้มีการร่วมกลุ่มกันประกอบอาชีพทอผ้า โดยมีกลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่เป็นกลุ่มองค์กร ห้างร้าน บริษัทและหน่วยงานของรัฐ ปัจจุบันกลุ่มผ้าทอบ้านหนองจอกพัฒนามีความต้องการที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างความหลากหลายให้กับลูกค้าเดิม และแสวงหาลูกค้าใหม่
ประวัติความเป็นมาของการทอผ้าสีธรรมชาติ บ้านหนองจอกพัฒนา อำเภอคลองขลุง จังหวัดกำแพงเพชร กล่าวโดย นางวิรส สอนนอก ภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านการทอผ้าย้อมสีธรรมชาติ ปัจจุบันอาศัยอยู่บ้านเลขที่ 78 หมู่ที่ 9 บ้านหนองจอกพัฒนา ตำบลท่ามะเขือ อำเภอคลองขลุง จังหวัดกำแพงเพชร ได้เรียนรู้การย้อมสีผ้าด้วยสีธรรมชาติจากการเข้ารับการอบรมโดยศูนย์วิชาการและเทคโนโลยีสิ่งทอผ้าพื้นบ้าน(ฝ้ายแกมไหม) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สำหรับการทอผ้าได้เรียนรู้ และได้รับการถ่ายทอดจากนางนา หอมดวง อายุ 87 ปี ซึ่งเป็นมารดา ผลิตผลงานที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นผ้าขาวม้า ผ้าคลุมไหล่ ผ้าตัดเสื้อ เป็นต้น ซึ่งเป็นผ้าที่ย้อมจากสีธรรมชาติทั้งสิ้น ผลิตภัณฑ์ผ้าทอย้อมสีธรรมชาติของนางวิรส สอนนอก มีคุณภาพดี มีลูกค้าสนใจติดต่อขอซื้อเพื่อนำไปจำหน่ายและหรือนำไปตัดเสื้อผ้า เป็นของฝากในโอกาสต่างๆ ทำให้เพิ่มรายได้ให้กับครอบครัว ต่อมาได้มีการส่งเสริมและพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์จากผ้าทอมือย้อมสีธรรมชาติ นำมาผลิตภัณฑ์เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เช่น กระเป๋า กล่องทิชชู กล่องอเนกประสงค์ ผ้าพันคอฯลฯ เพื่อให้เกิดความหลากหลายและสร้างมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ของกลุ่ม โดยมีหน่วยงานที่เข้ามาส่งเสริมและสนับนุนในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เช่น สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดกำแพงเพชร สำนักงานพัฒนาชุมชน อำเภอคลองขลุง
สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร จึงได้กำหนดให้มีโครงการยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชน OTOP ผลิตภัณฑ์ผ้าทอมือย้อมสีศิลาแลง ลายดอกพิกุล ของกลุ่มผ้าทอย้อมสีธรรมชาติ บ้านหนองจอกพัฒนา อำเภอคลองขลุง จังหวัดกำแพงเพชร” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ 1. เพื่อศึกษาค้นคว้าและพัฒนาออกแบบผลิตภัณฑ์ OTOP 2. เพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชน OTOP โดยนําแนวคิดภูมิปัญญาท้องถิ่นร่วมกับแนวคิดการออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่อการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ของที่ระลึกเพื่อจัดนำหน่วยเป็นสินค้าของชุมชนและสร้างรายได้ให้กับชุมชนต่อไป
หน่วยปฏิบัติการส่วนหน้าของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร. (2565). การพัฒนากระบวนการย้อมเส้นฝ้ายจากผงศิลาแลง ผลิตภัณฑ์ผ้าทอมือย้อมสีศิลาแลง ลายดอกพิกุล. สืบค้น 22 พฤศจิกายน 2567, จาก https://asl.kpru.ac.th/MHESI/?lang=TH&page_id=20